ภาพการชุมนุมของชาวดีโอ หรือ Dialogue Oasis ครั้งที่ ๓ ที่บ้านพักคริสเตียน ถ.คอนแวน ซอย ศาลาแดง ๒ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา กับ ๒๑ ชีวิตที่พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากกันและกันทำให้ตาน้ำแห่งมิตรภาพในเมืองกรุงนี้ผุดเผยเติมเต็มช่วงเวลาดีๆให้กับชีวิต โดยส่วนมากเป็นผู้คนที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Dialogue มาหรือไม่ก็สนใจที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการบอกเล่าบอกต่อ และเวบโซด์วงน้ำชา www.wongnamcha.com หลายคนอยู่ในแวดวงของการเรียนรู้ด้านในที่เป็นแสวงหาพื้นที่เปิดแบบนี้ในการตอกย้ำการฝึกฝน บางคนได้เข้าเรีนรู้กับเสมสิกาขาลัยเป็นช่วงๆในหลักสูตรที่หลากหลายต่างๆ บ้างก็ได้เข้าปฏิบัติการฝึกตนกับคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่างวิจักขณ์ พานิช ครึ่งหนึ่งเป็นคนทำงานประจำที่แสวงหาชีวิตที่คุณค่าและสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพื่อให้เกิดการเชื่อมหลอมสัมพันธ์และเกิดการเรียนรู้จากกันและกัน บ้างก็เป็นนักศึกษาที่มหิดล และอาจารย์ของพวกเขาได้ช่วยให้เขาได้สัมผัสและเกิดแรงบันดาลใจผ่านกระบวนการสนทนาแนวลึกนี้ ทำให้ชีวิตของพวกเขาได้มาเดินอยู่บนเส้นทางของการเรียนรู้
พวกเราเริ่มต้นจากการแนะนำตัวให้ได้รู้จักที่ไปที่มาของกันและกัน เพียงแค่การได้รับฟังเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันก็เป็นความอิ่มใจอย่างหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งพูดถึงความรู้สึกถึง "ความแปลกแยก" (Alienation)ที่เกิดขึ้นในเวลาทีอยู่ทั้งในองค์กรของตัวเองที่ยังคงเป็นไปตามกระแสหลักทั่วไป ที่มองเราว่าเป็นพวกแปลกๆ มองว่าเป็น "มะนาวต่างดุ๊ด"(กรุณาผวน)และกับเวลาที่อยู่ท่ามกลางผู้คนในกระแสทางเลือกที่อาจไม่ได้ทำงานให้กับองค์กรธุรกิจ หรือไม่ใช่ใช้ชีวิตเพียงเพื่อแสวงหากำไรเท่านั้น การที่ต้องเดินระหว่างโลก ๒ ใบนี้เองที่บางครั้งก็รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เอาเข้าจริงๆผมคิดว่าคนจำนวนมากคงมีความรู้สึกถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยที่แปลกแยก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจเป็นว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งความแปลกแยก และดังนั้นกระบวนการหรือเครื่องมือต่างๆที่กำลังเป็นที่สนใจก็คือเครื่องมือที่ช่วยลดความแปลกแยกเหล่านี้ลง ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการสร้างสรรค์ชุมชน ทีมงาน การสื่อสารอย่างสันติ การเป็นคนกลาง สานเสวนา การรับฟังอย่างลึกซึ้ง และกระบวนการภาวนาในรูปแบบต่างที่ช่วยให้ผู้คนได้ลดความรู้สึกแปลกแยกกับ "ตัวเอง" ลงไปบ้าง เพื่อยอมรับตนเองอย่างที่เป็น
เพื่อนวัยเยาว์ที่เป็นศิษย์ ค่าย ส.รัตนพจนาถร ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งมันเอาจเป็นเพราะสังคมอยู่ในกระบวนการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ diversification และความแปลกใหม่และแตกต่างนี้เองอาจทำให้ความรู้สึกแปลกแยกกลายเป็นท่วงทำนองร่วมของสังคมยุคใหม่ ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ความแปลกนี้ไม่แยกออกจากกัน แต่กลับมาเรียนรู้จากกันและกัน
และแล้วเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ตั้งคำถามอย่างเปิดกว้างและจริงใจว่า ในฐานะที่ทำงานด้าน facilitation (fa) หรือการเป็นกระบวนกร เป้าหมายหนึ่งคือทำให้ผู้คนในองค์กรเข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ ดังนั้นฟาจำต้องสามารถทำการ convince โน้มน้าวอย่างมีพลังหรือไม่? คำถามนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนลงลึกอย่างมาก เพราะหลายคนได้ค้นพบบางอย่างที่มีคุณค่ากับชีวิตและอยากแบ่งปันให้คนรอบข้าง ครอบครัวหรือองค์กรได้รับรู้และ "ได้" อย่างที่ตัวเองได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการได้เข้าใจแง่มุมชีวิตของตัวเองมากขึ้น การมีสุขภาพดีขึ้น หรือการได้มีแวดวงที่มีการพูดคุยกันอย่างรับฟังและเข้าใจกันและกันได้ บ้างก็แบ่งปันว่า ภาษาหรือแม้แต่ชุดที่สวมใส่ก็อาจทำให้เกิดการรับรู้และตัดสินไปเองที่นำไปสู่ความแปลกแยกได้เช่นกัน บ้างก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรับฟังวาระที่แท้จริงของผู้คน แทนที่จะพยายามทำให้เขาเข้าใจวาระของเรา เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เกิดการได้ยินและเข้าใจแล้ว ความเป็นเพื่อนที่ปลอดภัยไม่ตัดสินนี้จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง คล้ายกับที่อ.วรภัทร์ ภู่เจริญ กล่าวว่า "รักแล้วจึงรู้" นั่นคือ ความสัมพันธ์ที่ดี ปลอดภัย วางใจ ไม่ตรีนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ และที่สำคัญการสร้างสัมพันธภาพที่ดีนี้ต้องเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่ซ่อนเร้น ไม่ทำให้เป็นเครื่องมือรับใช้ความอยากของเราเองที่ต้องการให้เขาทำอะไรสักอย่างตามความคิดของเรา แต่เป็นความปรารถนาดีจริงๆที่อยากให้เขาได้พบเจอกับสิ่งดีๆ แม้ว่าสิ่งดีๆนั้นเราอาจไม่เคยรู้จักพบพานเลยก็ตาม
ในความเห็นของผม การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงคือการทำงานกับการดำรงอยู่ของตัวเอง เป็นการทำงานอยู่กับปัจจุบัน เดี๋ยวนี้และที่นี่เท่านั้น อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ดังที่มหาตมะ คานธีกล่าวว่า "จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราปราถนาให้เกิดขึ้นในโลกนั้นเถิด" (Be the change you want to see in the world)หากเราไม่ปรารถนาความรุนแรง ก็จงเป็นสันติภาพ หากเราไม่ต้องการการความมืด ได้แต่เพียงก่นด่าความมืด เราก็จะเป็นเพียงเสียงก่นด่าและความคับข้องหมองใจ และแล้วความมืดก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่เพียงเราจุดเทียนไขสักเล่ม ความมืดมิดก็จะมลายหายไป เราเลือกได้ว่าจะก่นด่า หรือจุดเทียน
การมีชีวิตอยู่อย่างเปิดรับ อย่างมีแรงบันดาลใจที่ไม่คาดหวัง คือการดำรงอยู่ในแรงบันดาลใจ อย่างไม่ต้องมีชื่อหรือสถานะอะไร แม้แต่ คำว่า "กระบวนกร" ผมก็พยายามตั้งขึ้นมา นอกจากต้องการให้เห็นความต่างของวิธีการจัดการกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังต้องการให้เห็นถึงความเป็นธรรมดา ไม่ต้อง "พิเศษ" หรือ "วิเศษ"กว่าใครๆ แต่เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการให้เพื่อนคนอื่นๆได้ให้หรือแบ่งปัน สิ่งที่มีค่าแก่กันและกัน และเมื่อทุกคนเป็นผู้ให้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีแล้ว การเป็นผู้รับอย่างเปิดกว้างก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก
ผมได้แบ่งปันในวงว่า ไม่ว่าจะยุคไหนๆ มนุษย์ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนด้วยกัน หรือกับโลกแห่งธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรม ประเพณี หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิต สมัยนี้ก็เช่นกัน เราต้องการการเชื่อมสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไร้วาระซ่อนเร้นหรือกดทับ เพื่อให้เราได้ยินเสียงของตัวเองและของกันและกันอย่างยอมรับ และมากไปกว่านั้นเรายังมีสัญชาตญาณของความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลที่มีชีวิตนี้ ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์ของความแปลกแยกมาเพียงใดก็ตาม เมื่อได้แบ่งปัน "ความแปลกแยก" ก็ทำให้พื้นที่วันเสาร์กลางกรุงที่เป็นพื้นที่ของการได้ยินและใส่ใจกลายเป็นพื้นที่ที่ "แปลก..แต่ไม่แยก" อืม..ก็แปลกดีนะ
วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"ความแปลกแยก" ที่แปลกแยก มาจากข้างในยังมีทวิภาวะ นี่ นั่น (ผิด ถูก สวย ไม่สวย ดี ไม่ดี ฯลฯ) อาจจะแยกส่วนภายในตัวเราด้วยมั๊ง เลยทำกับโลกภายนอกแบบนั้น หรืออาจจะฝังรากลึกในความเข้าใจว่าเรามีแต่ชีวิตที่ไม่ปลอดภัยมั๊ง แม้แต่การฟังเสียงภายในของตัวเองยังไม่รู้สึกปลอดภัยเลย ไม่กล้าแสดงออกมา ก็เลยหาคนอื่นมาสนับสนุนมั๊ง
ตอบลบ"แปลก...แต่ไม่แยก" ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน สนับสนุนความแตกต่างของกันและกัน สิ่งสุดท้ายคืออะไรก็ไม่รู้( การเต้นรำของปรากฎการณ์ )